มีปัญหากับเรื่องของการคอมเมนต์นิดหน่อย พอดีเมื่อวันก่อนมี discus ในห้องเรียน ผมก็แสดงความเห็นบางอย่าง แต่โดน อ. ติกลับมาว่า “ถ้าคอมเมนต์แบบ negative อย่าคอมเมนต์” ผมแบ่บว่า เอ่อ งง
คือ “อย่าคอมเมนต์ ?” “อย่าแสดงความเห็น ?” ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ อ. จะไม่ถามหน่อยเหรอว่าทำไมผมคอมเมนต์แบบนั้น ผมคิดอะไร หรือถ้าผมคอมเมนต์นอกประเด็น จะบอกว่าอันนี้นอกประเด็นก็ได้ แต่เล่นบอกว่าอย่าคอมเมนต์ เล่นเอาผมเสียเซลฟ์ไปเลย หรือถ้าสิ่งที่ผมคอมเมนต์มันผิด ก็แย้งมาว่าผิดตรงไหนอย่างไร เพราะนี่คือการ discus ไม่ใช่ lecture
เราจะได้และเสียอะไรจากสิ่งนี้
อ. จะได้ความเห็นที่ตรงใจมากขึ้น เพราะได้ใส่ฟิลเตอร์ไว้แล้ว ว่าบางคอมเมนต์อย่าพูด อ. จะไม่ได้ความเห็นที่หลากหลาย ไม่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างจากที่อยากเห็น นักเรียนจะระมัดระวังในการพูด จากที่คนกล้าพูดมีน้อยอยู่แล้ว ก็จะน้อยลงอีก เพราะไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่จะคอมเมนต์มัน negative หรือเปล่า ดังนั้น การไม่พูดย่อมปลอดภัยกว่า
ในการแสดงความเห็นในชั้นเรียนหรืองานสัมมนา มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะเขียมๆ เงียบๆ ไว้ แล้วพอมีใครแสดงความเห็นโง่ๆ หรือพูดอะไรแปลก เราก็แค่ร่วมกันหัวเราะในความโง่หรือความประหลาดที่คนนั้นๆ แสดงออกมา เพราะมันทำให้เราได้มีส่วนร่วมอย่างง่าย โดยไม่ต้องลงทุน และไม่ต้องเสี่ยง (ว้าว การแสดงความเห็นในห้องเรียน หรืองานสัมมนาถือเป็นความเสี่ยง เยี่ยมเลย) นี่คือบรรยาการของการเรียนรู้แบบกลุ่มในสังคมบ้านเรา และนี่เป็นสาเหตุที่ทำไมเราถึงไม่ค่อยคิด เพราะการคิดและการแสดงออกจะทำให้เราเจ็บปวด
สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมนึกถึงสมัย ป.3 ตอนนั้น อ. ถามว่า ดินชั้นบนหรือดินชั้นล่างมีอินทรีย์สารมากกว่ากัน ผมตอบชั้นล่าง อ. บอกว่าผิด เพราะที่ถูกต้องเป็นชั้นบน เพราะสัตว์ตายทับถมกันอยู๋ข้างบน อ. บอกว่าผมตอบผิด ซึ่งมันก็ผิดแหล่ะ แต่ อ. จะไม่ถามหน่อยเหรอว่าทำไมผมตอบแบบนั้น ? อ. อาจคิดว่าผมไม่สนใจเรียนผมเลยตอบผิด แต่จริงๆ แล้วที่ผมคิดคือ ไดโนเสาร์ตายอยู่ชั้นล่าง ตัวใหญ่กว่าก็ต้องมีอินทรีย์สารมากกว่าข้างบน (ตอนนั้น ป.3 และผมคิดแบบนั้นจริงๆ) การที่ อ. ไม่ถามและบอกแค่ว่า ผมตอบผิด มันทำให้ผมรู้สึกไม่มีคุณค่าเอาเสียเลย
กลับมาที่ชั้นเรียน ผมยังจำคำถามในการเรียนครั้งแรกๆ ได้ “คลาวด์ มีผลต่ออาชีพยังไง” a) สร้างอาชีพเพิ่มขึ้นมากมาย b) ทำให้อาชีพหนึ่งหายไป และทำให้เกิดอีกอาชีพขึ้นมา, แน่นอน ผมรู้อยู่แล้วว่า คำตอบตามตำราน่ะมันคือ a แต่ใจผมคิดว่ายังไงเสียในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ b ผมตอบออกไปโดยไม่ได้คิดนานด้วยความมั่นใจ อ. ตอบกลับมาแค่ว่า ผิด และเพื่อนร่วมชั้นอีกท่านก็ตอบคำตอบ a และแน่นอน มันถูกต้อง
ทำไมเราถึงต้องหลบความจริง เพียงเพราะการหลอกตัวเองนั้นมันสวยงาม ทำไม อ. ไม่ถามว่า ผมคิดอะไร และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในคำตอบที่แตกต่างกัน ทำไม อ. เลือกจะให้นักเรียนจำว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร และใส่เหตุผลตามตำรา หรือตามที่ตัวเองคิดมาลงในหัวนักเรียน (มันแปลง่ายๆ เลยว่า เธออย่าคิด เธอจำคำตอบนี้ไว้ก็พอ) ใช่ครับ เราเรียนเรื่องคลาวด์อยู่ แต่ทำไมเราต้องบอกว่ามันดีไปเสียหมด ทั้งที่จริงๆ มันทำให้บางคนตกงาน และบางคนก็ได้งานใหม่ขึ้นมา
เรามาลองคิดเล่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคำตอบในแต่ละแบบ
- ถ้าเรามองว่าในความเป็นจริงคือ a คลาวด์ไม่ได้ทำลายอาชีพใครเลย คลาวด์สร้างงานมากมายต่างหาก เราก็สนับสนุนไป แต่คลาวด์ก็ไม่เกิดในองค์กร เราไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะคลาวด์มันมีแต่ข้อดีนี่น่า งั้นแสดงว่าเขายังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้กันมากพอ วิธีแก้คือ ให้ความรู้มากขึ้น คนจะได้เข้าใจและยอมรับ
- คราวนี้ลองมองเคส b บ้าง คลาวด์ทำลายงานบางงาน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามันกระทบกับงานใคร system admin ? ดังนั้น ก็เป็นไปได้ที่ system admin จะกลัวตกงานหากระบบต้องย้ายไปคลาวด์ ดังนั้นจึงคอยสกัดไว้ และเมื่อมีคนมา educate เท่าไหร่ มันก็ไม่เกิด เพราะเขากังวลในหน้าที่การงานของเขาอยู่ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเขาไม่ได้ถูกทำให้หายไป เพราะเราทำเป็นมองไม่เห็นมัน
จากสองตัวอย่างข้างต้น ถ้าเราเห็นปัญหาตามที่ปัญหาเกิดจริงๆ เราก็จะรู้ปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขมันได้อย่างตรงจุด
การทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา มันง่าย และสวยงาม เหมือนการเขียนสรุปโครงการภาครัฐโง่ๆ ที่เราไม่สามารถเขียนได้ว่า โครงการล้มเหลวเพราะอะไร เราต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่า โครงการประสบความสำเร็จ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ดึงๆ มา ใช่ มันทำให้ดูดี มันทำให้เราประสบความสำเร็จ และปัญหาที่เราพยายามมองข้ามไป มันก็จะเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพราะเราไม่รับรู้ว่ามันมีปัญหานั้นๆ อยู่
เราอยากเป็นสังคมที่พัฒนา เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สิ่งที่เขาเป็นคือ เขาคอมเมนต์ครับ เขาติ เขาเห็นปัญหา เขาแนะว่าอะไรไม่ดี และร่วมกันหาคำตอบว่า ไอ้ที่ดีน่ะเป็นยังไง ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราที่ ถ้าใครติ หรือใครทวงสิทธิ์จะถูกสังคมมองว่า เป็นพวกเยอะ เรื่องมาก เอาแต่ใจ ไม่รู้จักหยวน ดังนั้น จงมีความสุขกับระบอบทักษิณกันครับ แน่นอน ผมก็จะมีความสุขด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น